DMCR NEWS

ครั้งแรก! ตั้งกล้องจับตาขยะลอยน้ำ’เจ้าพระยา’

  • 10 ต.ค. 2565
  • 3,040
ครั้งแรก! ตั้งกล้องจับตาขยะลอยน้ำ’เจ้าพระยา’

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ ดิ โอเชียน คลีนอัพ (The Ocean Clean Up) จากประเทศเนเธอร์แลนด์  พัฒนาการจัดการปัญหาขยะในทะเลด้วยงานวิจัยและเทคโนโลยีผ่านการติดตั้งกล้องบันทึกภาพ (The River Monitoring System) และพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ เพื่อใช้ตรวจติดตามปริมาณขยะลอยน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา หลังพบขยะไหลลงสู่ทะเลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก


กล้องบันทึกภาพติดตามปริมาณขยะลอยน้ำในเจ้าพระยา

ล้องติดตามขยะ 8 ชุดได้รับการติดตั้งบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในพิกัดที่เห็นสายน้ำไหลผ่านชัดเจน เพื่อบันทึกภาพตามติดขยะทุกประเภทโดยไม่รบกวนการจราจรทางน้ำ และจะตั้งกล้องติดตามขยะเพิ่มบนสะพานอรุณอัมรินทร์อีก 6 ชุด และสะพานภูมิพลอีก 13 ชุด ซึ่งสะพานสามแห่งเรียงตัวตามลำน้ำเจ้าพระยา  คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้

ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ได้ไปร่วมติดตั้งและทดสอบกล้องบันทึกภาพบนสะพานพระปิ่นเกล้า   กล่าวว่า ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศจัดการขยะไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ขยะบนบกไหลลงแม่น้ำและสู่ทะเลจำนวนมาก ปัจจุบันทุกหน่วยงานพยายามลดปริมาณขยะทั้งบนบก แม่น้ำ และขยะทะเล  เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ ลดผลกระทบต่อสัตว์ทะเล เราได้เห็นกรณีเต่ากินขยะพลาสติกในทะเล แพขยะในทะเลกระทบการท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย

“ แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายใหญ่และสายสำคัญของประเทศไทย เกิดจากการรวมกันของแม่น้ำ ไหลผ่านจังหวัดต่างๆ และกรุงเทพ ก่อนออกสู่ทะเลอ่าวไทย ด้วยความเป็นแม่น้ำใหญ่โอกาสที่ขยะจากบกลงแม่น้ำสู่ทะเลจะมากยิ่งขึ้น โครงการฯ ติดตั้งกล้องเพื่อสำรวจประเภทขยะที่ลอยในแม่น้ำ ปริมาณขยะระหว่างสะพานหนึ่งไปอีกสะพานหนึ่ง เพิ่มหรือลดลง โดยกล้องจะบันทึกภาพทุก 15 นาที   ข้อมูลขยะที่ได้จากภาพถ่ายสะพานทั้ง 3 แห่งจะนำมาสู่การวิเคราะห์ภายใน 6 เดือนจะเห็นแนวทางจัดการและแก้ไขขยะในแม่น้ำอย่างยั่งยืน “ ศ.ดร.สุชนา กล่าว


ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ร่วมทดสอบระบบกล้อง

การตามดูเส้นทางขยะลอยน้ำเจ้าพระยาถือเป็นการช่วยพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดขยะ การเดินทางสู่ทะเล รอง ผอ.สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำยกตัวอย่างว่า หากข้อมูลขยะที่ได้จากสะพานปิ่นเกล้า ไปสะพานอรุณอมรินทร์ ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น แสดงว่า มีการรั่วไหลขยะ ควรมีการจัดการ เช่น กำจัดขยะในบริเวณนั้น การดักจับขยะก่อนไหลลงแม่น้ำ หรือกรณีขยะค่อยๆ ลดปริมาณลงจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง ต้องมีการวิเคราะห์เกิดจากสาเหตุใด ขยะติดริมชายฝั่งหรือไม่  หากเราได้ข้อมูล ทุกฝ่ายจะจัดการได้

“ เราติดตามขยะทุกประเภท  แต่ปัจจุบันขยะพลาสติกมีสัดส่วนมากกว่า 50%  เพราะพลาสติกนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี่ กล่องอาหาร ถุง ช้อนส้อม  เมื่อใช้งานแล้ว พลาสติกเหล่านี้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม การตั้งกล้องติดตามขยะเป็นอีกก้าวในการจัดการขยะในทะเล และความเป็นไปได้เพื่อสกัดกั้นขยะในแม่น้ำสาขา ชุมชน ก่อนไหลลงเจ้าพระยา  “ศ.ดร.สุชนา


สะพานพระปิ่นเกล้า 1 ใน 3 สะพานที่ตั้งกล้องติดตามขยะ

ทั้งนี้ นักวิชาการจุฬาฯ ย้ำว่า  มีรายงานทั่วโลก ขยะลงทะเลมาจากแม่น้ำประมาณ 60-70% ฉะนั้น การจัดการขยะที่ดีต้องลดการสร้างขยะและกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทาง ปัญหาต้นทางตอนนี้คนทิ้งขยะไม่ถูกที่ ขยะรั่วไหลลงแม่น้ำลำคลอง ถูกพัดพาไปลงเจ้าพระยา ลอยไปไกลลงทะเล ขณะที่ทุกฝ่ายบอกได้สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน แต่ภาพขยะลอยน้ำ การปล่อยของเสียครัวเรือนลงสู่แม่น้ำ แสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหายังดีเท่าที่ควร   การเร่งสร้างความตระหนักยังจำเป็นอยู่  ต้องกลับมาดูว่าที่ไม่เป็นรูปธรรม เป็นเพราะสื่อสารข้อมูลความรู้ไปไม่ถึงหรือไม่ หากมีการจัดการให้ชุมชนคัดแยกและกำจัดขยะได้อย่างเป็นระบบและทั่วถึงจะไม่เพียงแก้ปัญหาขยะทั่วไปได้ แต่ช่วยแก้ปัญหาขยะทะเลได้ด้วย

“ ตอนที่ไปสำรวจขั้วโลกเหนือ แม้กระทั่งพื้นที่ไกลขนาดนี้ เราก็พบอวน ตาข่ายจากประมง ขวดพลาสติก แล้วยังมีรายงานพบไมโครพลาสติกอยู่ในตัวอย่างน้ำและหิมะ สะท้อนปัญหาใหญ่และต้องแก้ต้นเหตุ จำเป็นต้องหยุดการไหลของขยะลงแม่น้ำและทะเล ตั้งกล้องติดตามขยะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่นำมาใช้จัดการมลพิษ และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะให้ดีขึ้น เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ สนับสนุนเป้าหมายลดขยะทะเลให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2570 นอกจากนี้ ข้อมูลขยะที่ได้ยังมีประโยชน์หนุนเสริมการทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งบนบกและในทะเลร่วมจัดการขยะ ปกป้องแม่น้ำและทะเล “ศ.ดร.สุชนา กล่าว


ตั้งกล้องติดตามขยะบนสะพานพระปิ่นเกล้า

การติดตั้งกล้องบันทึกภาพเพื่อติดตามปริมาณขยะลอยน้ำในประเทศไทยถือเป็นครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้ ดิ โอเชียน คลีนอัพ เนเธอร์แลนด์ มีโครงการจัดการขยะในทะเลด้วยการติดตั้งกล้องบันทึกภาพ (The River Monitoring System) ชนิดเดียวกันในแม่น้ำในประเทศแอฟริกาใต้ และประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน สะท้อนขยะทะเลเป็นปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญ ซึ่งหลายประเทศตระหนักและหามาตรการเพื่อลดปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน

โครงการนี้เป็นหนึ่งในโมเดลทดลองบนแม่น้ำเจ้าพระยาจากความร่วมไม้ร่วมมือกัน   อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนชายฝั่งทะเลทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะควรมีการจัดหามาตรการส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชนริมแม่น้ำและชุมชนริมชายฝั่งทะเลในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และปลอดภัย ควบคู่กับการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถังขยะประเภทต่างๆ และตำแหน่งจัดทิ้งขยะในชุมชน ตลอดจนต้องมีการจัดหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเข้ามาให้ความรู้ รื่องการจัดการขยะที่ถูกสุขลักษณะให้กับประชาชนในพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ

มาตรการต่างๆ จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะทั้งในพื้นที่ชุมชน รวมถึงขยะทะเล อีกทั้งสามารถช่วยให้เป้าหมายการลดการสร้างขยะทะเลจากต้นทางภายในปี 2570 ของรัฐบาลมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น

ขอบคุณที่มา : ไทยโพสต์

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง