วันที่ 14-23 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน สำรวจแนวปะการังบริเวณเกาะพยาม จังหวัดระนอง และกองหินอีแต๋น เขาหน้ายักษ์ หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา จากการสำรวจไม่พบปะการังฟอกขาว อุณหภูมิน้ำทะเล 28-29 องศาเซลเซียส แนวปะการังส่วนใหญ่มีสภาพสมบูรณ์ดี ยกเว้นหาดท้ายเหมืองที่มีสภาพเสียหาย ปะการังที่พบส่วนใหญ่ เช่น ปะการังโขด ปะการังวงแหวน ปะการังสมอง ปะการังเขากวาง ตัวอ่อนปะการังที่พบส่วนใหญ่ เช่น ปะการังเห็ด ปะการังเคลือบหนาม ปะการังวงแหวน ปะการังโขด ปะการังเขากวาง โรคปะการังที่พบ เช่น โรควงฟอกขาวและโรคเนื้อเยื่อเปลี่ยนสี ในปะการังโขด ปะการังช่องเล็ก พบตะกอนแขวนลอย รวมถึงมีการปกคลุมของเห็ดทะเล (corallimorph) และสาหร่ายสีแดง อีกทั้งยังมีรอยกัดกินและการเจาะไชของสัตว์น้ำ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคได้ ปลาที่พบส่วนใหญ่ เช่น ปลากล้วยแถบเหลือง ปลากะพงตาโต ปลาสลิดหินเล็กหางเหลือง ปลาสลิดหินเล็กเกล็ดวาว สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ที่พบส่วนใหญ่ เช่น ดาวขนนก เม่นดำหนามยาว เม่นดำหนามสั้น หอยมือเสือ เม่นรู ดาวทะเล และทากทะเลชนิดต่างๆ ขยะในแนวปะการังที่พบส่วนใหญ่ เป็นขยะตกค้างจากการทำประมง เช่น เศษอวน เชือก