วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ร่วมเป็นวิทยากรเสวนาในหัวข้อ "วิกฤตทะเลเดือด โลกจะอยู่อย่างไร ?" ภายในงาน Innovation Keeping the World 2024 นวัตกรรม ยั่งยืน สู้ภาวะโลกเดือด ณ SCBX NEXT STAGE @ NEXT TECH ชั้น 4 สยามพารากอน ซึ่งทางสปริงนิวส์ สื่อออนไลน์ ได้จัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว เพื่อรณรงค์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวยุคใหม่ ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างขยะ ต้านภัยโลกร้อน ตลอดจนย้ำเตือนให้ตระหนักถึงมาตรการ ลด ละ เลิก ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 เพื่อลดการก่อให้เกิดขยะทับถมอันนำไปสู่ผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนในอนาคต อีกทั้งเป็นการลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่ ลดอัตราการตายของสัตว์ป่าและสัตว์ทะเลอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว สู้ "ภาวะโลกเดือด" เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นประเด็นที่หลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ต้องตระหนักและต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางวิกฤติสภาพอากาศ
โอกาสนี้ อธิบดี ทช. กล่าวว่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปัจจุบัน ที่เสื่อมโทรมลงมาก จากฝีมือจากมนุษย์ที่ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และส่วนนึงเกิดจากภัยธรรมชาติ ปัญหาโลกเดือดนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับมนุษย์ แต่ยังส่งผลกับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล อาทิ ปะการังฟอกขาว หญ้าทะเลเสื่อมโทรม พะยูนเกยตื้น โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) มีภาระกิจหลักในการดูแล ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แต่เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นไว กรม ทช. จึงผสานความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน นักท่องเที่ยว ร่วมมือกันในการช่วยแก้ไขปัญหาทรัพยากรฯ ที่กำลังเสื่อมโทรมลง ทั้งนี้ กรม ทช. หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ต้องวางแผนร่วมมือกันอย่างเป็นระบบเร่งดำเนินการตามมาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหา ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล ให้กับมาสมบูรณ์โดยเร็ว เพียงเราทุกคนช่วยกันทุกอย่างจะดีขึ้น