วันที่ 22 ตุลาคม 2567 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ในประเด็นเกี่ยวกับสถานภาพชายฝั่งประเทศไทย การกัดเซาะชายฝั่ง และการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดสงขลา ในส่วนของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของไทยมีสาเหตุ 2 ประการ คือ 1. สาเหตุจากกระบวนการตามธรรมชาติ เช่น ลมมรสุมและพายุซึ่งทำให้มวลทรายที่ถูกพัดพาออกไปจากชายฝั่ง และมวลทรายที่ถูกพัดพาเข้ามานั้นไม่สมดุลกันแต่กระบวนการธรรมชาติที่มีผลกระทบมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เนื่องจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ทำให้น้ำทะเลรุกเข้าไปแผ่นดินมากขึ้น ส่งผลให้ชายฝั่งทะเลเกิดการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้น 2. สาเหตุจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน การสร้างเขื่อน และอ่างเก็บน้ำบริเวณต้นน้ำ ทำให้การไหลของกระแสน้ำเกิดการชะลอตัว ตะกอนบางส่วนถูกกักไว้ที่บริเวณเหนือเขื่อนการสูบน้ำบาดาล มีส่วนทำให้เกิดการทรุดตัวของดิน แต่การกระทำของมนุษย์ที่มีผลกระทบมากที่สุดคือ การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งเพื่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจทำให้มีการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นจำนวนมาก เช่น การสร้างนิคมอุตสาหกรรม การสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่ง การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ไม่คำนึงถึงสภาพพื้นที่ตามเป็นจริง เช่น ทางเดินของน้ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางธรณีวิทยาของชายฝั่ง ทรัพยากร และระบบนิเวศในบริเวณนั้น ทำให้ขาดความสมดุล และน้ำไปสู่การเกิดการกัดเซาะชายฝั่งได้ง่าย
สำหรับการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งส่วนใหญ่มักเน้นการใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม เช่น กำแพงป้องกันคลื่น (Seawall) รอดักทราย (Groins) เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง (Offshore Breakwater) วิธีการเหล่านี้เป็นการแก้ไขที่มักจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง ทำให้เกิดการกัดเซาะต่อเนื่อง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแนวทางผสมผสานรูปแบบ (Hybrid Solutions) โดยเน้นรูปแบบที่สอดคล้องและเลียนแบบธรรมชาติที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions) เป็นแนวทางหลัก เช่น การสร้างหาดทราย (Beach Nourishment) เป็นการดูดทราย หรือนำทรายมาถมในบริเวณที่ถูกกัดเซาะ การสร้างเนินทราย (Dune Nourishment) เป็นการนำทรายมาถมให้สูงเลียนแบบเนินทรายเดิมที่ถูกทำลายไป และนำพืชบางชนิดที่สามารถขึ้นในเนินทรายปลูกเสริมเพื่อดักทราย การปลูกป่าชายเลนในบริเวณที่ถูกทำลายไป การฟื้นฟูป่าชายเลน ป่าชายหาด ปะการังและหญ้าทะเล ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แม้อาจจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ทั้งนี้ กรม ทช. ได้มีการใช้มาตรการควบคุมทางกฎหมายและการใช้ประโยชน์ที่ดินชายฝั่งให้เหมาะสมและได้ผล เช่น การกำหนดระยะร่นถอย (Setback) ให้เป็นมาตรการเชิงนโยบายเพื่อเป็นการลดระดับความเสียหายของสิ่งก่อสร้างบริเวณชายหาด มีมาตรการการป้องกันและรักษาพื้นที่ชายฝั่งที่เหลืออยู่ การแก้ไขฟื้นฟูชายฝั่งทะเลที่ประสบปัญหาการกัดเซาะและพังทลาย การสงวน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมตลอดแนวชายฝั่งทะเล รวมทั้งสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังพื้นที่ข้างเคียง ตลอดจนทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีความสำคัญ
ข่าว: สุนันทา จันทร์บุตราช นักประชาสัมพันธ์
ภาพ: ณัฏฐพล หนูเทศ เจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษา