DMCR FACEBOOK

การเดินทางของชีวิต กว่าจะมาเป็น “สัตวแพทย์”

  • 5 พ.ย. 2567
  • 257
การเดินทางของชีวิต กว่าจะมาเป็น “สัตวแพทย์”

การเดินทางของชีวิต กว่าจะมาเป็น “สัตวแพทย์”
ผู้รักษาสัตว์ทะเลหายาก
วันนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีเรื่องราวเส้นทางชีวิตของสัตวแพทย์ ซึ่งถือเป็นบุคลากรที่สำคัญของหน่วยงานในการดูแลสัตว์ทะเลหายาก มาฝากค่ะ…
               “คุณหมอข้าวตู” สพ.ญ.อรณี จงกลแพทย์ ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้เคยถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตว่ากว่าจะมาเป็นสัตวแพทย์ รักษาสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่คนในประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร...
คุณหมอเล่าว่า “เริ่มต้นจากวัยเด็กเห็นคุณพ่อชอบดูสารคดีรายการโปรด NatGeo ทำให้เราชอบสัตว์ป่า ธรรมชาติตั้งแต่ตอนนั้น และชอบโลมา วาฬเพชฌฆาต เพนกวินเป็นพิเศษ เมื่อเข้าเรียนมัธยมปลายจึงเลือกเรียนสายวิทย์ เพราะชอบชีววิทยา และเรียนสายวิทย์แบบเข้มข้นที่เรียกว่า Gifted จากการที่เราชอบดูสารคดี ทำให้เราอยากเป็น Zookeeper หรือนักวิทยาศาสตร์ หรือนักพฤติกรรมสัตว์ ที่อยู่กับสัตว์ทั้งวัน ช่วงจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีอาจารย์แนะแนว แนะนำว่าเหมาะที่จะเรียนต่อคณะสัตวแพทย์ เราจึงศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะสัตวแพทย์ และสอบเข้าเรียนต่อที่คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลในที่สุด
                ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยสนุกมาก เรียนสัตวแพทย์มีทั้ง โหด มันส์ ฮา จนช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ปี 4 ก็รู้ว่าตัวเรานั้นชอบสัตว์น้ำ เพราะสัตว์พูดไม่ได้ ส่งเสียงไม่ได้ เวลาตรวจจะต้องไปดูในน้ำ รู้สึกท้าทาย ส่วนสัตว์ป่า เป็นอีกวิชาที่ต้องประยุกต์การรักษา และเข้าใจธรรมชาติของสัตว์เหล่านั้นอย่างแท้จริง สุดท้ายเราชอบโลมาตั้งแต่เด็ก เลยมองหาลู่ทางการทำงาน ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ปี 6 รู้จักสถานที่ทำงานที่มีโลมา คือ พัทยาดอลฟินเวิล์ด และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แต่ทั้งสองแห่งยังไม่มีการเปิดรับสมัครงาน หลังจากจบการศึกษามา 1 เดือน จึงได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นนักวิชาการสัตว์น้ำ 1 ปี ซึ่งระหว่างนั้นได้ไปสอบและมีชื่อรอบรรจุพนักงานราชการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แต่ก็ไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าจะเรียกบรรจุถึงเราไหม
                เส้นทางชีวิตเปลี่ยนอีกครั้ง ด้วยการตัดสินใจลาออกจากงานเดิม ด้วยความใฝ่ฝันที่อยากจะทำงานที่ได้เจอสัตว์ มิใช่อยู่เพียงแต่ข้อมูลวิชาการ จนมีรุ่นพี่แนะนำให้ได้ไปฝึกงานที่คลินิกสัตว์น้ำ ได้ช่วยรักษา ได้สะสมประสบการณ์ที่ดี จนครบ 1 เดือน เหมือนจิ๊กซอว์ที่ต่อกันจนติดพอดี พัทยา ดอลฟินเวิล์ด รับสมัครสัตวแพทย์ดูแลโลมา จึงไม่รอช้ารีบสมัคร เข้ารับการสัมภาษณ์ และเริ่มงาน เราได้ทำงานที่ได้อยู่กับโลมา สัตว์น้ำที่เราชอบ มีความสุขมาก ได้เรียนรู้ข้อมูลสุขภาพโลมาที่เราไม่เคยเรียนมาก่อน ต้องศึกษาทำการบ้าน โดยทุกเช้าจะต้องตรวจกลุ่มโลมาอิรวดีในบ่อ ก่อนจะลงน้ำตรวจสุขภาพและเล่นกับน้องๆ (โลมาอายุ 20—30 ปี) ตรวจเสร็จแล้ว ก็เตรียมยาบำรุงให้เทรนเนอร์นำไปป้อนขณะแสดง ระหว่างน้องๆ แสดงต้องนั่งสังเกตอาการว่าสามารถแสดงได้ปกติ มีอุบัติเหตุหรือไม่อย่างไร ช่วงบ่ายมีการตรวจคุณภาพน้ำในบ่อ ตรวจม้า ตรวจแพะที่เลี้ยงไว้ด้วย และช่วงเย็นก็ตรวจน้องๆ อีกครั้งก่อนกลับบ้าน
               ผ่านไป 3 เดือน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเรียกบรรจุ เส้นทางชีวิตเปลี่ยนอีกครั้ง ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา สัตว์ที่ดูและมีหลายชนิดมากขึ้น ทั้งโลมา เต่าทะเล วาฬ รวมถึงสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มสัตว์สงวนและคุ้มครองอื่นๆ (ยกเว้นปะการัง ที่มีกลุ่มงานที่ดูแลโดยเฉพาะ) ขณะนั้นมีแพทย์ที่ดูแลสัตว์ทะเลเพียง 9 คนเท่านั้น แต่ตอนนี้ครอบครัวเราใหญ่ขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาน้องๆ จึงหวังว่าครอบครัวสัตวแพทย์ที่ดูแลสัตว์ทะเลหายากนี้จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ“

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง