วันที่ 14 มีนาคม 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับทัพเรือภาคที่ 3 และจังหวัดภูเก็ต จัดพิธีปล่อยเต่ากลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธาน ในการนี้ พลเรือโทสุวัจ ดอนสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คุณวินเซนต์ จูเลียน แพทริค เดลซอล ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมพูลแมน ภูเก็ต พันวา บีชรีสอร์ท พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัด ทส. และ ทช. รวมถึงทัพเรือภาคที่ 3 อาสาสมัครการบินสำรวจพะยูน อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เครือข่ายอนุรักษ์ ชุมชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการในพื้นที่ เข้าร่วมในพิธี ณ บริเวณ หาดทราย โรงแรมพูลแมน ภูเก็ต พันวา บีช รีสอร์ท จังหวัดภูเก็ต

ในโอกาสนี้ รมว.ทส. นำข้าราชการพลเรือน ทหาร และประชาชนทุกหมู่เหล่ากล่าวเทิดพระเกียรติเพื่อรำลึกในพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ เพื่อสนองพระราชปณิธานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล พร้อมกันนี้ นำคณะปล่อยเต่าตนุทรงเลี้ยง ที่มีนามว่าคุณโพไซดอน เป็นเต่าตนุ อายุ 2 ปี 6 เดือน น้ำหนัก 6 กก. ความยาว 37 ซม. ความกว้าง 36 ซม. และผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ปล่อยเต่าตนุที่ได้รับการช่วยชีวิตจากศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ชื่อว่า พรหมมินทร์ มีน้ำหนัก 8.5 กก. ความยาว 42 ซม. ความกว้าง 39 ซม. คืนสู่ธรรมชาติ จากนั้น นำคณะเยี่ยมชมนิทรรศการต่างๆ ประกอบไปด้วย ส่วนที่ 1 จะมีการสาธิตการบินโดรนทั้งหมด 3 ตัว และ Dock DJI 1 ตัว โดรนตัวที่ 1 บินสำรวจติดตามพะยูน โดรนตัวที่ 2 บินบริเวณแปลงเสริมอาหารพะยูน ซึ่งอาหารที่ใช้ในวันนี้ คือ หญ้าช้อง โดรนตัวที่ 3 บินสำรวจบริเวณหญ้าทะเล ที่ใช้สำหรับการทดลอง การฟื้นฟูของหญ้าทะเล เบื้องต้นพบว่าเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดี และ Dock DJI หรือ อากาศยานไร้คนขับแบบอัตโนมัติ จะใช้ในการบินสำรวจพื้นที่บริเวณอ่าวตังเข็นในแต่ละรอบวัน นิทรรศการเกี่ยวกับการอนุบาลเต่าทะเล โดยศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือพังงา นิทรรศการ CSR ของโรงแรมพูลแมน ภูเก็ต พันวา บีชรีสอร์ท ร่วมกับกรม ทช. เป็นข้อมูลเกี่ยวกับหญ้าทะเล นิทรรศการเกี่ยวกับพะยูนและหญ้าทะเล อีกทั้ง ภัยคุกคาม และการฟื้นฟูของหญ้าทะเล ตลอดจนมาตรการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา หญ้าทะเลเสื่อมโทรมและพะยูนเกยตื้นและการทำงานของอากาศยานไร้คนขับแบบอัตโนมัติ และในโอกาสอันดีนี้ ได้มอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติยศยิ่ง “รักษ์ทะเลยิ่งชีพ” พร้อมเกียรติบัตรให้แก่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลภาคพลเมือง ที่ร่วมทำการบินสำรวจพะยูน และร่วมดูแลพะยูนและหญ้าทะเลให้กับกรม ทช. อีกด้วย



รูปภาพเพิ่มเติม>>>
ข่าว: อิทธิกร ศิริวัชรธนาตย์ นักจัดการงานทั่วไป
ภาพ: วุฒิภัทร วิมุกตานนท์ นายช่างภาพชำนาญงาน