DMCR NEWS

‘โลมาอิรวดี’ ขวัญใจลำน้ำโขง

  • 28 มี.ค. 2560
  • 9,169
‘โลมาอิรวดี’ ขวัญใจลำน้ำโขง

โดย -โต๊ะข่าวสัตว์เลี้ยง

          โลมาอิรวดี หรือ โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Orcaella brevirostris) เป็นโลมาที่มีหัวกลมและไม่มีจงอย บริเวณหน้าผากขยายยาวกว่ารูปหน้าของมัน ลำตัวมีสีเทาหรือน้ำเงินเข้มยาวประมาณ 178-274 เซนติเมตร ส่วนช่วงท้องมีสีเทาอ่อนกว่ามีครีบหลังเล็กๆ เป็นรูปร่างสามเหลี่ยมปลายมน และครีบข้างที่กว้างและยาว น้ำหนักตัวจะอยู่ประมาณ 98-159 กิโลกรัม ตัวผู้มีแนวโน้มอายุยืนกว่า และน้ำหนักมากกว่าตัวเมีย พวกมันมีครีบหลังใหญ่กว่า ทั้งขากรรไกรบนและล่างของมันมีฟันที่เล็กมากและแหลมคม รวมทั้งมันยังมีกระเพาะอาหารหลายส่วน แต่ไม่มีกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณหัวใจ โดยตัวเมียจะออกลูกทุกๆ 2-3 ปี ทำให้ทุกครั้งที่มีการพบลูกโลมาเกิดใหม่ จะเป็นเรื่องที่สร้างความยินดีกันอย่างมาก

          โลมาชนิดนี้ ถูกค้นพบครั้งแรกที่แม่น้ำอิรวดีในเมียนมา จึงเป็นที่มาของชื่อนี้ ปัจจุบันพบมากในแหล่งน้ำลึก 9 แห่ง ตลอดช่วงราว 190 กิโลเมตรของลำน้ำโขง และแม้จะได้ชื่อว่าเป็นขวัญใจของชาวกัมพูชาแต่พวกมันก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามอย่างมาก และมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ การจับปลาผิดกฎหมายโดยใช้ไฟฟ้าช็อต ยาพิษ หรือระเบิด ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 40 ปีมานี้ ส่งผลให้ประชากรปลา และโลมาถูกจับ หรือถูกฆ่าจากการโดนลูกหลง เช่นเดียวกับการจับปลาอย่างถูกกฎหมายที่ใช้ตาข่ายไนลอนตาเล็กถี่ สร้างปัญหาให้กับสัตว์เหล่านี้ไม่ต่างกัน ทั้งการตกปลาที่มากเกินความจำเป็นโดยไม่มีการตรวจสอบ ทำให้สูญเสียประชากรปลาเพื่อเป็นอาหารมากขึ้น รวมถึงการสร้างเขื่อน และระบบชลประทาน ยังทำลายแหล่งที่อยู่ของโลมา และขัดขวางเส้นทางการอพยพเพื่อการสืบพันธุ์ นอกจากนี้ ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก อนุภาคพลาสติก และสารปนเปื้อนอื่น ๆ จากการทำเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และในเมืองล้วนคุกคามชีวิตของเหล่าโลมาทั้งสิ้น โดยเฉพาะโลมาแรกเกิดตกอยู่ในความเสี่ยง ประชากรโลมาน้ำจืดในลุ่มน้ำโขงลดลงชนิดที่ว่าอัตราความอยู่รอดในระยะยาวตกอยู่ในอันตราย

ที่มา  คม ชัด ลึก

 

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง