…โดย เกศศินีย์ นุชประมูล
สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนฯร.9 – “สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9” ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน บริเวณบ้านเสม็ดงาม ม.10 ต.หนองบัว อ.เมือง จ.จันทบุรี เนื้อที่ประมาณ 518 ไร่
โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ เพื่อขยายผลของโครงการ “พลิกฟื้นคืนป่าชายเลนสู่ธรรมชาติ” โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม(ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
สวนพฤกษศาสตร์ฯ แห่งนี้ นับเป็นสวนพฤกษศาสตร์ป่า ชายเลน “แห่งแรกของโลก”
เป็นแหล่งรวบรวม จัดแสดงพรรณไม้ป่าชายเลนจากพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลก และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งศึกษาวิจัย สร้างองค์ความรู้ในทางพฤกษศาสตร์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นสถาบันแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ และการใช้ประโยชน์จากพรรณไม้ป่าชายเลนที่เหมาะสม และเป็นการส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในทางธรรมชาติของประชาชน เพื่อเป็นแหล่งสร้างกิจกรรมที่หลากหลายของนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และร่วมทำงานกับสถาบันการศึกษาทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อเป็นศูนย์เครือข่ายในการอนุรักษ์พรรณพืชป่าชายเลน ร่วมกับสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 93 ประเทศ ที่มีป่าชายเลนทั่วโลก
ทั้งหมดถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความยั่งยืนของระบบนิเวศป่าชายเลนต่อไปในอนาคต
ศาสตราจารย์สนิท อักษรแก้ว สมาชิกสนช. ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของโครงการว่าเริ่มต้นโดยคณะกรรมาธิการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุกรรมการทางทะเลและชายฝั่ง ได้ติดตามไปศึกษาดูงานที่ อ.ขลุง จ.จันทบุรี เพื่อดูพื้นที่สภาพป่าชายเลนที่สำนักงานพัฒนาป่าชายเลน
ทางหัวหน้าสำนักงานป่าชายเลน บอกว่าในอดีตพื้นที่ อ.ขลุง มีสภาพที่สมบูรณ์ แต่ช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าถูกทำลายโดยพื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นพื้นที่นากุ้ง เราคิดว่าทำอย่างไรจึงจะได้พื้นที่ป่าชายเลนที่สมบูรณ์คืนมา จึงให้เขาไปสำรวจแล้วทวงคืนพื้นที่ หลังจากสำรวจเสร็จก็รายงานผลกับทางสนช. ว่าได้ทวงคืนพื้นที่ป่าชายเลนมาได้แล้ว 5-7 พันไร่ จึงเป็นที่มาของการฟื้นฟูป่าชายเลนด้วยการร่วมกันปลูกป่า
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2560 ได้ทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงานพร้อมเป็นประธานโครงการ “พลิกฟื้นคืนป่าชายเลนสู่ธรรมชาติ”
จากนั้นเราคิดกันว่าทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน สนช.จึงปรึกษากันกระทั่งได้สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมี เพราะเรามีแต่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ป่าบก ดังนั้น คนที่จะศึกษาเกี่ยวกับสวนพฤกษศาสตร์หรือพันธุ์ไม้บนบก ก็สามารถไปที่นั่นได้ แต่ถ้าป่าชายเลนชายฝั่งก็ไม่รู้จะไปไหน จึงคิดว่าเหมาะแล้วที่จะทำ “สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ”
และเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2561 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ “สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ” ณ บ้านเสม็ดงาม ต.หนองบัว อ.เมือง จ.จันทบุรี
โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนคณะผู้บริหารในสังกัด ทส. สมาชิกสนช. คณะทูตานุทูต ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และชาวจังหวัดจันทบุรี เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ
สิ่งสำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ท่านทรงรักป่าชายเลน โดยแห่งสุดท้ายที่พระองค์เสด็จฯ ไปคือเสด็จฯ ไปรับป่า 1 ล้านไร่ ของปตท.ที่ปากแม่น้ำปราณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปตท.ฟื้นฟูให้มีความสมบูรณ์ขึ้น ตนมีโอกาสได้ถวายรายงานพระองค์ท่าน พระองค์ท่านจึงรับสั่งว่า
“ดีแล้ว ให้ช่วยกันอนุรักษ์ป่าชายเลนเพราะเป็นป่าที่มีคุณค่า เป็นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นที่อนุบาลตัวอ่อน ถ้าไม่มีป่าชายเลนก็จะไม่มีสัตว์พวกนี้”
พระองค์ทรงเป็นห่วงด้วยว่าจะทำอะไรก็ตามให้นึกถึงราษฎร ว่าเขาต้องได้ประโยชน์ด้วย พระองค์ท่านจะทรงเป็นห่วงราษฎรอยู่ตลอด และที่ปราณบุรี พระองค์ท่านทรงปลูกต้นโกงกางใบใหญ่ไว้หนึ่งต้น
ซึ่งขณะนี้เราได้นำต้นกล้า นำฝักจากต้นที่พระองค์ทรงปลูกไว้ที่ปราณบุรี มาเลี้ยงในเนิร์สเซอรี่ โดยจัดพื้นที่เฉพาะประมาณ 1-2 ไร่ ภายในสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 จ.จันทบุรี เพื่อปลูกต้นไม้เฉพาะของพระองค์ท่าน และของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพราะท่านทรงปลูกไว้เหมือนกัน ซึ่งประชาชนสามารถไปดู และระลึกถึงพระองค์ได้
ศาสตราจารย์สนิทยังอธิบายความสำคัญของป่าชายเลน ว่าเป็นป่าที่ขึ้นอยู่บริเวณชายฝั่ง เป็นเขตน้ำกร่อย คือเป็นพื้นที่ที่น้ำจืดกับน้ำเค็มผสมกัน มีพันธุ์พืชหลายชนิดอย่างน้อยก็เกือบ 80 ชนิด ซึ่งเป็นพันธุ์พืชที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เพราะต้องปรับตัวให้กับความเค็มของน้ำไปด้วย ปรับตัวให้ใกล้ชิดสภาพสิ่งแวดล้อม เป็นที่รวมของสัตว์สามน้ำ จึงเป็นพื้นที่สำคัญมาก พูดง่ายๆ ว่าป่าชายเลนเป็นพื้นที่ที่ปรับสมดุลระบบนิเวศบนบกกับชายฝั่ง
สิ่งสำคัญอีกประการของป่าชายเลน คือ เป็นพื้นที่ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำในชายฝั่งหรือในทะเล เพราะป่าชายเลนคือบ้านหลังใหญ่ของสัตว์เหล่านี้ และยังเป็นแหล่งอาหารสำคัญอีกด้วย
ในสภาวะปัจจุบัน ที่มีสภาวะโลกร้อนซึ่งมีก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคาร์บอนไดออกไซด์กับมีเทน ป่าชายเลนสามารถดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงกว่าป่าบก 4-6 เท่า ซึ่งระบบการดูดซับป่าชายเลน หรือระบบการดูดซับคาร์บอนได ออกไซด์ในภาคทะเล คือความสำคัญของป่าชายเลน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พูดไว้ว่า “ไม่มีป่าชายเลน ไม่มีกุ้ง หอย ปู ปลา” นี่คือความสำคัญง่ายๆ
“ผมคาดหวังว่าหลังจากนี้ สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 จะเป็นแหล่งศึกษาพันธุ์ไม้ป่าชายเลนทั่วโลก พันธุ์ไม้ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของแต่ละประเทศ ซึ่งแตกต่างไปจากป่าบก ศึกษาว่ามีลักษณะอย่างไร ซึ่งทูตแต่ละประเทศได้นำพันธุ์ไม้มาร่วมปลูกด้วยถือว่าเป็นการรวบรวมไว้ เราจะทำเป็นพื้นที่ให้มีศักยภาพใกล้เคียงกับพื้นที่จริง เพราะป่าชายเลนเป็นที่ที่อยู่ในเขตร้อน
นอกจากนี้ เรายังรวบรวมพันธุ์พืชที่เป็นพวกปาล์ม และสมุนไพรต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิจัย และเป็นที่รวมนักวิทยาศาสตร์ทั้งของไทยและทั่วโลก ที่จะมาแลกเปลี่ยน ความรู้ซึ่งมีอีกเยอะมากในเรื่องการ วิจัยเกี่ยวกับพันธุ์พืช และระบบนิเวศป่าชายเลน มีอีกเยอะที่ต้องทำต่อไป” ศาสตราจารย์สนิทกล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ความรู้คนในพื้นที่ใกล้เคียงหรือประเทศใกล้เคียง ฉะนั้น ตรงนี้จะเป็นพื้นที่ที่สำคัญของโลก สุดท้ายจะเป็นการสร้างจิตสำนึกของคนในทุกระดับได้ศึกษาและเข้าใจ ประการสำคัญคือจะให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้กับชุมชน หวังว่าชุมชนจะเป็นองค์ประกอบสำคัญทำให้โครงการนี้ยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังอยากเน้นเรื่องห้องสมุดที่อยากทำให้เป็นห้องสมุดที่ทันสมัยที่สุดในโลก ตนในฐานะประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ จะให้เลขาธิการสมาคมรวบรวมภาพยนตร์หรือ วีดิทัศน์เกี่ยวกับป่าชายเลน งานวิจัยต่างๆ ของแต่ละประเทศ ให้มาเก็บไว้ที่ห้องสมุดของเรา
ศาสตราจารย์สนิทฝากทิ้งท้ายไว้ว่า สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง จากนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลแทนพวกเราทุกคน
ขอฝากว่าเป็นสมบัติของชาติ หรือสมบัติของโลกที่พวกเราต้องช่วยกันดูแลรักษา โดยเฉพาะชาวจันทบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต้องช่วยกันดูแลรักษาให้ดี