DMCR NEWS

พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา (๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘)

  • 11 ส.ค. 2548
  • 2,048
พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา (๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘)

          “อีกเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะมีความชื่นอกชื่นใจเหลือเกิน คือ เรื่องโครงการปะการังเทียม ธรรมดาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และข้าพเจ้าไปเยี่ยมทุกภาคของประเทศไทยก็รู้สึกว่า ภาคใต้ที่ยังมีความยากจนอยู่ไม่ใช่น้อย เมื่อ ๒ ปีมาแล้ว พระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่ได้เสด็จไปที่นราธิวาส ข้าพเจ้าก็ไปคนเดียว ประชาชนก็มาคอยดักพบแล้วบอกว่า ท่านเดี๋ยวนี้นะพวกเรายิ่งยากจนมากขึ้นทุกที เพราะว่าออกเรือออกไปในท้องทะเลหาปลา จะตกปลามาสำหรับรับประทาน และสำหรับขายก็ไม่มีปลา พวกเรามีแต่เรือชนิดที่เรียกว่าเล็กไม่ใช่เรือใหญ่  เป็นชาวประมงทั่วๆ ไปที่ยังยากจน ข้าพเจ้าก็รู้สึกกลุ้มใจไม่ทราบว่าช่วยเหลือ เพราะว่าประชาชนมาดักพบ มาขอความช่วยเหลือด้วยตัวเอง เคราะห์ดีจำได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รับสั่งว่า ประเทศไทยมีนักวิชาการต่างๆ ที่เก่งมาก เก่งเหลือเกิน ข้าพเจ้าก็เลยเชิญนักวิชาการต่างๆ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ มาร่วมกันพูดถึงว่า ทำยังไงจะให้ประมงเรือเล็กๆ ไม่ใช่เรือใหญ่ เขาไม่มีทุนพอที่จะมีเรือใหญ่ ก็มีเรือเล็กๆ นี่ ทำยังไงถึงจะให้เขาจับปลาได้ และขายปลา และได้มีปลารับประทาน เช่น ที่น้ำลึก ๑๕-๒๕ เมตร ข้าพเจ้าก็ซาบซึ้งมาก เพราะว่าได้พบกับผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการของไทยหลายคน ที่มาพบข้าพเจ้าและก็พูดกัน เช่น ดร.จรัลธาดา กรรณสูต รองอธิบดีกรมประมง ดร.ปลอดประสพฯ และพวกของข้าพเจ้าเอง มีท่านองคมนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เราก็ประชุมกันว่าทำยังไงดี ทางประมงก็บอกว่า ลองดู ลองทรงทิ้งปะการังเทียมไป ซึ่งสามารถจะช่วยให้มีปลาในที่ตื้นๆ หน่อยหนึ่งได้ และตั้งแต่นั้นข้าพเจ้าก็ได้รับความช่วยเหลือจากทุกหน่วย หลายหน่วยงาน บางหน่วยงานก็ให้รถไฟมา ที่ไม่ได้ใช้แล้ว แล้วก็เรือต่างๆ ที่เก่า ไม่ได้ใช้แล้ว ก็เอามาทำเป็นปะการังเทียม ลองทิ้งลงไป แล้วรองอธิบดีกรมประมง ก็ส่งเจ้าหน้าที่ประดาน้ำลงไปถ่ายภาพ หลังจากการทิ้งปะการังเทียมไปแล้วประมาณสักเกือบเดือน ก็ลองส่งเจ้าหน้าที่ประดาน้ำลงไปถ่ายภาพ ก็พบว่าปลานานาชนิดมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมากที่ปะการังเทียม อันนี้ข้าพเจ้าไม่เคยทราบ ไม่เคยมีความรู้เลย เช่น ปลาช่อนทะเล ปลาเก๋า ปลากะพงชนิดต่างๆ นี่ข้าพเจ้าดูจากภาพยนตร์ที่นักประดาน้ำของเราไปถ่ายมา แล้ว ดร.จรัญธาดา ก็ปลื้มใจมากว่า ที่ได้เห็นปลากระทงแทง และปลาหมอทะเลข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนเลยในชีวิต ทั้งๆ ที่ ๗๐ กว่าแล้ว ปลากระทงแทง ปลาใหญ่ ใหญ่เท่ากับคน หนักประมาณ ๒๐๐ กิโล ดร.จรัญธาดา บอกว่า ปลานี่หายไปนานแล้ว คงจะไม่เข้ามาในบริเวณที่น้ำแค่ ๑๕-๒๕ เมตร แต่ตอนนี้กลับเข้ามา ปลาหมอทะเล ซึ่งเป็นปลาใหญ่มากทั้งสองชนิด น้ำหนักเป็น ๑๐๐ กิโลกรัม ราษฎรก็มาหาข้าพเจ้า มาเล่าให้ฟังว่า จากที่ไม่สามารถจะจับปลาได้ และรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว เดี๋ยวนี้จับปลาได้มาก มีรายได้เดือนละกว่า ๑๐,๐๐๐ บาท น่าปลื้มเป็นที่สุด ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณรัฐบาล กรมประมง การรถไฟฯ ที่ช่วยเอาตู้รถไฟเก่าๆ ให้ข้าพเจ้าไปทิ้งในทะเล ปลามันเห็นเป็นอพาร์ตเมนต์สวยมาก มากันเต็ม มาแย่งกันเต็ม ประหลาดมากเลย เดี๋ยวนี้ที่ปลาแปลกๆ มากันเต็มก็กลาย เกิดกลายเป็นที่ว่ายน้ำ ที่นักว่ายน้ำต่างๆ นักประดาน้ำพากันลงไปดู เห็นปลาต่างๆ มากมายก่ายกอง"

          พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา (๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘)

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง