วันที่ 4 มิถุนายน 2567 (09.00 น.) ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานแจ้งเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง ครั้งที่ 1/2567 โดยมีผู้บริหาร พร้อมด้วยคณะทำงานฯ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศูนย์อำนวยการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชั้น 8 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผ่านระบบการประชุมทางไกล (Conference)
ฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งเพื่อทราบคำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 591/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานแจ้งเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง ลงวันที่ 4 เมษายน 2567 พร้อมทั้งการทำงานของระบบเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเล (Marine Warning) ในภาพรวม ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็น โดยเลือกประเภทของภัยทางทะเลและชายฝั่ง ที่จะใช้แจ้งเตือนภัยผ่านระบบ Marine Warning รวม 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) แมงกะพรุนพิษ 2) Rip Current หรือคลื่นย้อนกลับ 3) น้ำทะเลเปลี่ยนสี 4) กัดเซาะชายฝั่ง และ 5) น้ำมันรั่ว/คราบน้ำมัน/ก้อนน้ำมันดิบ จากนั้นให้จัดทำข้อมูลองค์ความรู้จากภัยดังกล่าว ส่วนการประชาสัมพันธ์มอบให้สำนักงานเลขานุการกรมเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จะเปิดตัวแอปพลิเคชันในงานวันทะเลโลก ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน 2567 ณ สยามพารากอน กรุงเทพฯ
Marine Warning Application on Mobile ระบบเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเล (Marine Tourism Warning System) เป็นระบบแจ้งเตือนภัยสำหรับนักท่องเที่ยวหรือประชาชนในพื้นที่ใกล้จุดเกิดเหตุ ในการเฝ้าระวังต่อปรากฏการณ์ภัยทางทะเล เช่น การแจ้งเตือนภัยแมงกะพรุนพิษ น้ำทะเลเปลี่ยนสี คลื่นย้อนกลับ รวมถึงภัยทางทะเลอื่นๆ ในรูปแบบ Web Application และ Mobile Application อีกทั้งรวบรวมสถิติการเกิดปรากฎการณ์ภัยทางทะเลด้านดังกล่าว ไว้ในแอปพลิเคชัน ประกอบเมนูการใช้งาน คือ แสดงจุดเตือนภัยตามพิกัดที่เกิดเหตุในรัศมี 5 กิโลเมตร,ระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน,ระบบแจ้งเตือนบนมือถือ (Notification),องค์ความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและอื่น ๆ โดยสามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ทั้งระบบ IOS และ Android อีกด้วย
เขียน: สุนันทา จันทร์บุตราช นักประชาสัมพันธ์
ช่างภาพ: วุฒิภัทร วิมุกตานนท์ นายช่างภาพชำนาญงาน