ด้วยสถานการณ์หญ้าทะเล หรือแหล่งอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพะยูน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดย ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) สถาบันวิจัย และพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (สวพ.) ได้ดำเนินการวางเสริมอาหารชดเชยหญ้าทะเลสำหรับพะยูน ได้แก่ ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว และสาหร่ายผมนาง ตั้งแต่วันที่ 2-8 พฤศจิกายน 2567
กระทั่งเช้าของวันที่ 8 พฤศจิกายน พะยูนได้เข้ามากินหมดทุกชนิด และได้วางแปลงเสริมอาหารชดเชยหญ้าทะเลใหม่ เวลาประมาณ 07.30 - 09.00 น.หลังจากระหว่างรอน้ำขึ้น ได้มีพะยูนชื่อว่า "หลังขาวใหญ่" เข้ามากินและนักวิชาการได้ตรวจสอบ แล้วว่าไม่สามารถตรวจสอบได้โดยอากาศยานไร้คนขับได้ เนื่องจากน้ำขุ่น จึงลงดำน้ำสำรวจ พบว่าพะยูนได้กินเสริมอาหารแปลงดังกล่าวประกอบด้วย สาหร่ายผมนาง ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักบุ้ง จนหมด เหลือเพียงผักตบชวา ที่พะยูนไม่กิน
ทั้งนี้ จากการศึกษาแหล่งอาหารของพะยูน นอกจากหญ้าทะเล ยังพบว่าพะยูนมีการปรับเปลี่ยนแหล่งอาหาร โดยการไปกินสาหร่ายทะเล ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบองค์ประกอบของอาหารในกระเพาะพะยูนที่ตายมีสาหร่ายทะเลมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าพะยูนในพื้นที่ทะเลอันดามันมีการปรับตัวอยู่พอสมควร แต่อาจต้องยอมรับว่าสาหร่ายยังเป็นแค่การเสริมอาหารชดเชยหญ้าทะเล ไม่สามารถเป็นอาหารหลักแทนหญ้าทะเลได้ อีกทั้งมีรายงานในต่างประเทศว่าพบสาหร่ายในมูลของพะยูน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าพะยูนกินเข้าไปโดยบังเอิญหรือตั้งใจกิน อย่างไรก็ตาม สาหร่ายทะเลจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะนำมาให้พะยูนในภาวะอาหารขาดแคลน แม้กระทั่งการให้ผักชนิดอื่นเสริมทดแทน เพราะองค์ประกอบและสารอาหารในพืชผักมีคุณสมบัติไม่ต่างจากหญ้าทะเลมากนัก รวมทั้งจากข้อมูลในต่างประเทศที่มีการเลี้ยงพะยูนในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ก็มีการให้ผักเป็นอาหาร