DMCR NEWS

“รองนายก ประเสริฐ” นั่งหัวโต๊ะถก คกก.ทางทะเลแห่งชาติผลักดันมาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สั่งการ “กรมทะเล” ติดตามเฝ้าระวังวิกฤตพะยูน

  • 11 พ.ย. 2567
  • 847
“รองนายก ประเสริฐ” นั่งหัวโต๊ะถก คกก.ทางทะเลแห่งชาติผลักดันมาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สั่งการ “กรมทะเล” ติดตามเฝ้าระวังวิกฤตพะยูน

          วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ (กทช.) ครั้งที่ 3/2567 โดยมีนางอรนุช หล่อเพ็ญศรี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยผู้บริหารกรม ทช. คณะกรรมการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 109 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้มีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันพิจารณาจำนวน 4 เรื่อง คือ การเสนอออกกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่เพื่อใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จำนวน 3 พื้นที่ ในจังหวัดตราด จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พ.ศ. .... ในการนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ มอบหมายให้กรม ทช. เร่งเสนอร่างกฎกระทรวงฯ ต่อคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป อีกทั้งได้พิจารณากรณีที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยื่นฟ้องคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ กรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ทำให้เกิดการทำลายวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมและสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยที่ประชุมมีมติมอบอำนาจให้อธิบดี ทช. เป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับคดีหมายเลขที่ ส.14/2567 แทนคณะกรรมการฯ จนถึงที่สุด

          นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มอบหมายให้กรม ทช. พัฒนาโครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแบบองค์รวม พร้อมทั้งให้ศึกษาแนวทางการฟื้นฟูชายหาดโดยการเติมทราย ซึ่งเป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับมาตรการสีเขียว เพื่อการบริหารจัดการชายฝั่งอย่างยั่งยืน พร้อมสั่งการให้กรมฯ เร่งสำรวจศึกษาการประเมินมูลค่าความเสียหายต่อระบบนิเวศด้านสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากปัจจุบันหญ้าทะเลเสื่อมโทรมลงมาก ส่งผลให้พะยูนอพยพถิ่นฐานเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ ก่อให้เกิดความเสี่ยงการสูญเสียพะยูน โดยกรมฯ ได้จัดทำแผนเชิงรุกในการเฝ้าระวังพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล อีกทั้งเร่งสำรวจประชากรพะยูนและแหล่งหญ้าทะเลตลอดแนวชายฝั่งอันดามัน เตรียมบ่อพักฟื้นในแต่ละพื้นที่และจัดเตรียมหญ้าทะเล ทั้งนี้ กรมฯ ได้วางมาตรการแผนเร่งด่วนสำหรับพะยูนในช่วงอาหารธรรมชาติวิกฤติ โดยการนำผักที่มีองค์ประกอบทางเคมีใกล้เคียงกับหญ้าทะเล เช่น ผักกวางตุ้ง และสาหร่ายผมนาง เพื่อทดแทนหญ้าทะเลในบริเวณแหล่งหญ้าทะเลเดิมที่เสื่อมโทรม บริเวณหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต และบริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง ให้อาหารเป็นสาหร่ายผมนาง ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักคะน้า และผักบุ้ง จากการทดลองพบว่าพะยูนได้เข้ามากินอาหารเสริมจนหมดเกลี้ยง พร้อมกันนี้ กรมฯ ได้ศึกษาการใช้เทคนิคเพิ่มมวลชีวภาพของหญ้าทะเลในห้องปฏิบัติการเพื่อเร่งการเติบโตของหญ้าทะเลอีกด้วย

 

 

 

 

ข่าว: อิทธิกร ศิริวัชรธนาตย์ นักจัดการงานทั่วไป
ภาพ: วุฒิภัทร วิมุกตานนท์ นายช่างภาพชำนาญงาน

อัลบั้มภาพ

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง