"อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุให้จับตาประชุม ครม.วันนี้ คาดไฟเขียวจัดตั้งกรมน้องใหม่ " กรม Climate Change" รองรับภารกิจใหญ่แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศให้เห็นผล อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยผ่านงานเสวนา "ผสานพลัง นำไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2050" ว่า ในวันนี้ (14 มี.ค.66) คาดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการพิจารณาอนุมัติการจัดตั้งกรมน้องใหม่ “กรม Climate Change” หรือ “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment : CCE )” เป็นกรมในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อรับมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน และปกป้องตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ
อนึ่ง ร่างสาระสำคัญของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงเรื่องการจัดตั้งกรมเพื่อรองรับภารกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)ประกอบการขอปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ การทบทวนบทบาท ภารกิจภาพรวมของส่วนราชการ ทั้งภารกิจของกระทรวงฯ หน่วยงานในสังกัด ตลอดจนภารกิจตามกฎหมาย ยุทธศาสตร์ และแผนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2558 - 2593) การวิเคราะห์ Business Analysis และการวิเคราะห์เหตุผลความจำเป็นของการขอแบ่งส่วนราชการ เป็นต้นเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังและเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ควบคู่กับการเตรียมรับมือกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้สืบเนื่องเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) ได้เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุม COP26 หรือการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร
โดยพลเอกประยุทธ์ ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม แสดงเจตนารมย์ของประเทศไทยที่ได้ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก และพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศและทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน แม้ว่าประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนเพียง ร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก
อย่างไรก็ดีประเทศไทยกลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศ ที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุด จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาคมโลกทุกประการ และปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และแข็งขัน
โดยภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมาย NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Action) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อย ร้อยละ 7 ภายในปี 2020 แต่ทว่าในปี 2019 ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 17 ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 2 เท่า และก่อนเวลาที่ได้กำหนดไว้มากกว่า 1 ปี นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศแรก ๆ ที่ได้จัดส่ง NDC ฉบับปรับปรุงปี 2020 และได้จัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำให้กับ UNFCCC
“วันนี้ผมมาพร้อมกับเจตนารมย์ที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายใน หรือก่อนหน้า ปี 2065 ด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศและกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ผมมั่นใจว่าประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050" พลเอกประยุทธ์ กล่าวถ้อยแถลงตอนหนึ่งในการประชุม COP26
Cr. โดย : ฐานเศรษฐกิจ