DMCR FACEBOOK

กรมทะเลชายฝั่ง ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก และปล่อยสัตว์ทะเลหายากที่รักษาหายแล้วกลับสู่ธรรมชาติ

  • 12 ก.ย. 2566
  • 240
กรมทะเลชายฝั่ง ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก และปล่อยสัตว์ทะเลหายากที่รักษาหายแล้วกลับสู่ธรรมชาติ

วันที่ 12 กันยายน 2566 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับแจ้งสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น และให้การช่วยเหลือ ดังนี้
     1) ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ได้รับแจ้งจาก นางสาวนวพร ใหม่พุ่ม นักวิชาการป่าไม้ สังกัดอุทยานแห่งชาติหาดนพรันต์ธารา-หมู่กาะพีพี จ.กระบี่ เรื่องนักดำน้ำพบเต่าทะเลลอยนิ่งบริเวณเกาะแดง ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ เจ้าหน้าที่ศวอล. ประสานกับผู้แจ้งเหตุในการขนย้ายเต่ามายังที่ทำการ อช.หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เพื่อส่งมอบเต่าเกยตื้นให้กับเจ้าหน้าที่ศวอล. จากการตรวจสอบทราบว่าเป็นเต่าตนุ  เพศเมีย ความยาวกระดองวัดแนบ 96 ซม. กว้าง 90 ซม. วัยเจริญพันธุ์ สภาพอ่อนแรง มีการตอบสนองเล็กน้อย ไม่พบหมายเลขไมโครชิพหรือแถบโลหะระบุตัวตน ความสมบูรณ์ทางโภชนะค่อนข้างสมบูรณ์ (BCS = 4/5) ลักษณะภายนอก พบเพรียงขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วลำตัว ไม่พบบาดแผลฉกรรจ์หรือบาดแผลจากเครื่องมือประมง ทั้งนี้ เต่าตัวดังกล่าวได้เสียชีวิตระหว่างการขนย้าย เจ้าหน้าที่ศวอล. จึงนำเต่ากลับมายังศูนย์วิจัยฯ จ.ตรัง เพื่อรักษาสภาพซากและชันสูตรโดยสัตวแพทย์ต่อไป
     2) เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร สังกัดศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) มีการปล่อยเต่าทะเลป่วยเกยตื้นที่ได้รับการรักษาพักฟื้นจนหายเป็นปกติกลับสู่ธรรมชาติ บริเวณหาดแหลมพันวา ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต จำนวน 6 ตัว ประกอบด้วย เต่ากระ (Eretmochelys imbricata) จำนวน 2 ตัว เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) จำนวน 1 ตัว และ เต่าตนุ (Chelonia mydas) จำนวน 3 ตัว โดยก่อนการปล่อยกลับสู่ทะเลได้มีการฝังไมโครชิพเพื่อระบุตัวตนกรณีมีการแจ้งพบเจอหรือขึ้นวางไข่ในอนาคต
    3) เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร สังกัดศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ว่าพบเต่าทะเลลอยเกยตื้นมีชีวิต บริเวณหมู่เกาะไข่ ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา จึงเข้าช่วยเหลือและนำขึ้นเรือเพื่อนำส่งมายัง ศวอบ. จากการตรวจสอบพบเป็นเต่า เพศเมีย ขนาดโตเต็มวัย ความยาวกระดอง 67 เซนติเมตร ความกว้างกระดอง 66 เซนติเมตร น้ำหนัก 28.6 กิโลกรัม มีสภาพอ่อนแรง ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในระดับผอม มีบาดแผลฉกรรจ์บริเวณคอดใบพายหน้าซ้าย จึงได้ปฐมพยาบาลห้ามเลือดเบื้องต้นแล้วเคลื่อนย้ายมายังศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร เพื่อตรวจวินิจฉัยและพิจารณาแผนการรักษาต่อไป

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง