จากข่าวสำนักข่าวอิศรา ประจำวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ กรณี ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ได้ขออนุญาตใช้ พื้นที่ป่าไม้ในการก่อสร้างอาคารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง จ.ตรัง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ จากกรมป่าไม้ ๑,๗๐๐ ไร่ และต่อมามีการก่อสร้างอาคารเกินส่วนที่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ เข้าไปในพื้นที่ป่าชายเลน ๒๑-๓-๕๙ ไร่ อันเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ นั้น ต่อมาเมื่อมีกรม ทช. ได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ ดำเนินคดีกับ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยวิทยาเขตตรัง ว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ ฐานยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรือทำกินในที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่าหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นคดีอาญาที่ ๒๔๗/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๒
ต่อมา สถานีตำรวจภูธรสิเกา จังหวัดตรัง ได้มีหนังสือ ที่ ตง ๐๕๒๙/๑๗๙๒ วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๓ เรียนอัยการจังหวัดตรัง ว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาพร้อมทั้ง ส่งสำนวนให้อัยการจังหวัดตรังพิจารณา ในเวลาต่อมา คดีเรื่องนี้ สำนักงานอัยการจังหวัดตรัง ได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง นายประชีพ ชูพันธ์ กับพวกรวม ๒ คน ตามข้อหาดังกล่าว เนื่องจากขาดเจตนา การดำเนินการต่อมามีดังนี้ ๑ กรม ทช. มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทส ๐๔๐๖/๑๔๔๔ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ ส่งเรื่องดังกล่าวให้อัยการสูงสุด ดำเนินการฟ้องคดีแพ่งกับนายประชีพ ชูพันธ์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยวิทยาเขตตรัง กับพวกรวม ๖ คน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๒.๕๙๑ ล้านบาท (สองล้านห้าแสนเก้าหมื่นหนึ่งพันหนึ่งร้อยสามสิบเอ็ดบาทสิบแปดสตางค์) ให้แก่กรม ทช. กรณีกล่าวหาว่า การก่อสร้างโรงแรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง มีการบุกรุกและทำลายป่าชายเลน อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติ บริเวณท้องที่ ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง เนื้อที่ ๒๑-๓-๕๙ ไร่ ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๙๗
๒ สำนักงานการยุติการ ดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ มีหนังสือ ที่ อส ๐๐๒๐/๕๕๗ แจ้งกรม ทช. ว่า อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ปรากฏตามหนังสือกรม ทช. ที่ส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดว่า ประสงค์จะฟ้องขับไล่บุคคลต่างๆ รวม ๖ คน ให้ออกจากพื้นที่ที่บุกรุก ซึ่งแม้จะแจ้งด้วยประสงค์จะให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่และเรียกค่าเสียหาย อันอาจถือได้ว่าเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานกับหน่วยงาน ได้แก่ กรม ทช. กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ที่จะพิจารณาตัดสินชี้ขาดได้ก็ตาม แต่ กยพ. ไม่มีอำนาจที่จะตัดสินชี้ขาดบังคับถึงบุคคลภายนอกทั้ง ๖ คน ที่กล่าวข้างต้นได้ ชอบที่กรม ทช. จะต้องใช้สิทธิทางศาล โดยฟ้องมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และบุคคลทั้งหมดรวมในคดีเดียวกัน
๓ กรม ทช. ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทส ๐๔๐๖/๒๐๘๖ ลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ ส่งเรื่องดังกล่าวให้อัยการจังหวัดตรัง ดำเนินการฟ้องคดีแพ่งกับนายประชีพ ชูพันธ์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง กับพวกรวม ๖ คน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๒.๕๙๑ ล้านบาท (สองล้านห้าแสนเก้าหมื่นหนึ่งพันหนึ่งร้อยสามสิบเอ็ดบาทสิบแปดสตางค์) ให้แก่กรม ทช. ต่อไป
๔ อย่างไรก็ตามคดีนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีหนังสือ ที่ ศธ ๐๕๙๒(๓)๑.๙/๔๘๖๓ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เรื่อง ขอผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวเกี่ยวข้อง มาบังคับใช้เป็นการเฉพาะราย ในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (เพิ่มเติม) ณ ป่าคลองกะลาเส และป่าคลองไม้ตาย หมู่๓ ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษา ถึงรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประจิน จั่นตอง) โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลจังหวัดตรังแจ้งว่า บัดนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
๕ สำนักงานคดีแรงงานภาค ๙ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ อส ๐๐๓๘(๙)/๓๐๖ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ส่งสำนวนเอกสารคืนมายังกรม ทช. เพื่อรอฟังผลมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวก่อน หากในที่สุดแล้วคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหา ให้กรม ทช. ส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการจังหวัดตรังดำเนินคดีต่อไปภายในอายุความ ซึ่งคดีนี้มีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ นับแต่วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ (ครบกำหนดวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๒)
๖ และเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและทันกำหนดอายยุความ สำหรับคดีแพ่ง ในชั้นนี้ กรม ทช. ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทส ๐๔๐๖/๒๒๗๗ ลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด มอบหมายให้อัยการจังหวัดตรัง ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง กับ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยวิทยาเขตตรัง และผู้บุกรุกชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ๒.๕๙๑ ล้านบาท ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่าง อัยการจังหวัดตรัง พิจารณาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง
๗ กรณีความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ๖๔,๒๐๙ ล้านบาท เป็นกรณี ดำเนินการของ สนง.คณะกรรมการอุดมศึกษา ในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งเรียกร้องจาก เจ้าหน้าที่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยวิทยาเขตตรัง ในการนี้ กรม ทช. ได้มอบหมายให้กลุ่มนิติการติดตามคดีอย่างใกล้ชิด
๘ กรม ทช. จะนำปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อนโยบายของรัฐและประโยชน์สาธารณะ ต่อไป